ผู้ว่ากรุงเทพ ชัชชาติ ร่วมเดินขบวนไพรด์พาเหรด ครั้งแรกในกรุงเทพฯ Bangkok Naruemit Pride 2022 ยอมรับความแตกต่าง แต่ไม่แตกแยก วันนี้ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ รายงานว่า 5 มิ.ย. 65 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมเดินขบวนไพรด์พาเหรด ในกิจกรรม บางกอกนฤมิตไพรด์ (Bangkok Naruemit Pride 2022) จัดโดย คณะทำงานบางกอกนฤมิตไพรด์ และเครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศ โดยร่วมเดินพาเหรดร่วมกับภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และประชาชน ณ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม) ถึงสีลม ซอย 2 เขตบางรัก
กิจกรรมนี้ ถือเป็นกิจกรรมไพรด์พาเหรดครั้งแรกของกรุงเทพฯ
เริ่มจากตัวแทนเครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ร่วมกันตัดริบบิ้นแห่งความอคติทางเพศเพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์การต่อต้านความอคติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ จากนั้นเดินขบวนพาเหรดบางกอก นฤมิต ไพรด์ 2022 ซึ่งเป็นขบวนพาเหรดไพรด์ 6 สี โดยมีความหมายและกิจกรรม ดังนี้ 1. ขบวนสีแดง “กฎหมายทุกช่วงชีวิตของ LGBT+” กิจกรรมสีดาลุยไฟ 2. ขบวนสีส้ม “รัฐสวัสดิการเพื่อ LGBT+ 3. ขบวนสีเหลือง “เติบโตอย่างมีความหวัง” 4. ขบวนสีเขียว “สัจธรรม” rap ความหลากหลายทางเพศ 5. ขบวนสีน้ำเงิน “สันติภาพโลก” กิจกรรมต่อตัวเป็นสัญลักษณ์สันติภาพ และ 6. ขบวนสีม่วง “จิตวิญญาณสีรุ้ง” กิจกรรมแต่งงานของคู่รักเลสเบี้ยนจากภาคประชาชน และภาคเอกชน โดยตลอดเส้นทางมีประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้ความสนใจร่วมกิจกรรมกันอย่างคับคั่ง
นอกจากนี้ ยังมีการแสดง Drag Show จากกลุ่ม Drag Community โดยกลุ่ม Drag เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้ถนนสีลม และยังสร้างชื่อเสียงให้กับถนนสีลมอีกด้วย รวมทั้งการแสดงจาก Sex Worker และแฟชั่นโชว์ Dance for Pride “เราไม่รู้ว่าใครมีความหลากหลายอย่างไร แต่ก็คือคนกรุงเทพฯ เหมือนกัน ไม่แตกต่างกันเลย นี่คือความสวยงามของความหลากหลาย ยอมรับความแตกต่าง แต่ไม่แตกแยก ก็รักกันได้ เข้าใจ ใส่ใจกันทุก ๆ เรื่อง ยอมรับให้เกียรติซึ่งกันและกัน ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
“ในวันนี้มาในฐานะประชาชนชาวกรุงเทพฯ คนหนึ่ง ที่มางาน Pride Month ถือว่าในงานมีขบวนพาเหรดที่สนุกสนานอบอุ่น เราจะเห็นถึงเรื่องราวที่มีความหลากหลาย เข้าใจ ใส่ใจ เป็นสิ่งที่ดียอมรับ ไม่เพียงแต่จะเป็นเรื่องความหลากหลายทางเพศอย่างเดียว แต่จะเป็นเรื่องการเมืองด้วย ซึ่งต้องมีความเข้าใจ แตกต่างได้ หลากหลายได้ แต่ไม่แตกแยก ในส่วนของ พ.ร.บ.คู่สมรส เป็นเรื่องของสภาใหญ่ ไม่ใช่ของ กทม. เป็นสิ่งที่คู่สมรสควรจะได้” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับในเดือนมิถุนายน เทศกาล Pride Month ถือเป็นใน 1 ใน 12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ ทั้งนี้ นโยบายด้าน LGBTQ+ ใน กทม. หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นส่วนหนึ่งในนโยบาย 214 ข้อ โดยได้รับการยอมรับผ่านความเข้าใจจาก กทม. ในฐานะหน่วยงานรัฐ ประชาชนได้รับการบริการอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ด้วยความเข้าใจในความอ่อนไหวทางเพศ (gender sensitivity) และความเท่าเทียมทางเพศ การยอมรับความหลากหลายทางเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศในสังคมไทยยังคงมีเงื่อนไข ในฐานะหน่วยงานรัฐของประชาชนและนายจ้างของข้าราชการ กทม. การยอมรับและเข้าใจถึงความหลากหลายเป็นก้าวที่สำคัญสำหรับภาครัฐไทยให้ทัดเทียมกับภาคเอกชนหรือเครือข่ายต่าง ๆ นอกจากเรื่องความหลากหลายทางเพศวิถีแล้วยังมีเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งเป็นหัวใจหลักที่หน่วยงาน กทม. ต้องให้ความสำคัญ
กรมอนามัย เตือน ควันกัญชา – กัญชง ย้ำหากพบเห็นคนสูบเอาผิดได้
กรมอนามัย ออกโรงเตือนประชาชน ควันกัญชา – กัญชง หากเห็นสูบสามารถเอาผิดได้ไม่ต้องวินิจฉัย ไม่จำเป็นต้องมีผู้ร้องเรียน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัด สธ. และประธานคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องการปลดล็อกกัญชา ที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 9 มิถุนายนนี้ ว่าด้วยเรื่อง แนวทางการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ไม่เหมาะสม
โดย นพ.ธงชัย ระบุว่า ขณะนี้เหลือเพียงสารสกัดกัญชากัญชง ที่มีปริมาณ THC มากกว่า 0.2% ที่ยังเป็นยาเสพติด แต่ส่วนอื่นไม่เป็นยาเสพติดแล้ว สธ.จึงทำหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ออกกฎหมายในการควบคุมการนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมระหว่างรอ พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ. … ที่กำลังจะออกมา
กรมอนามัยออกประกาศให้กลิ่นและควันจากกัญชากัญชงเป็นเหตุรำคาญ ตามอำนาจ พ.ร.บ.การสาธารณสุข ซึ่งเมื่อเป็นเหตุรำคาญแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถระงับเหตุได้ หากเห็นคนสูบอยู่ ส่วนใหญ่จะสูบเป็นกลุ่มก้อนเชิงสันทนาการ เจ้าหน้าที่สามารถระงับให้หยุดการกระทำได้ ไม่ว่าจะมีคนร้องเรียนหรือไม่ ซึ่งรายละเอียดจะอยู่ตามประกาศของกรมอนามัย
นพ.ธงชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราได้ส่งหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อให้ช่วยออกกฎหมายในแง่ของการป้องกันการโฆษณากัญชาในทางสันทนาการ เช่น Ganja Night ในสถานบริการต่างไป การนำกัญชาไปในเชิงสันทนาการ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณากฎหมายของทาง สคบ. ส่วนกรณีการป้องกันชาวต่างชาติที่อาจเข้าใจผิดว่าประเทศไทยใช้กัญชาเสรี ทางสถาบันกัญชาทางการแพทย์ จะดูแลเรื่องการให้ความรู้ประชาชน ซึ่งอยู่ระหว่างการทำ Cannabis Literacy เป็นแนวทางการใช้อย่างถูกต้อง ถูกวิธี
ขณะที่ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า เรื่องการสูบ จะมีเรื่องของประกาศกลิ่นและควันกัญชากัญชงให้เป็นเหตุรำคาญ ดังนั้นจึงไม่ต้องวินิจฉัยว่ารำคาญหรือไม่รำคาญ เพราะกฎหมายบอกว่าเป็นเหตุรำคาญเลย เจ้าพนักงานก็สามารถไปจัดการได้ ซึ่งอาจจะมีผู้ร้องเข้ามา หรือเจ้าพนักงานเห็นเองว่ามีควันและกลิ่นก็สามารถเข้าไปดำเนินการได้
Credit : แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว | แต่งบ้านและสวน | พระเครื่อง | รีวิวกล้องถ่ายรูป